เทคโนโลยีช่วยตัดสินเกมกีฬา

392

การแข่งขันกีฬาในปัจจุบันมีมูลค่าการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก ทั้งนี้เพราะเป็นการลงทุนทางธุรกิจ  นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลมืดจากวงการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง  การแข่งขันกีฬาบางประเภทจึงได้มีการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยในการตัดสินเพื่อทำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นและเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เทคโนโลยีที่นำมาช่วยตัดสินเกมกีฬาได้มีการพัฒนาโดยบริษัทต่างๆและถูกนำมาทดลองใช้ ก่อนที่จะนำใช้อย่างเป็นทางการอย่างเช่น  เทคโนโลยีฮอว์คอาย (Hawk Eye) ในกีฬาเทนนิส, VAR (Video Assistant Referees) ช่วยในการตัดสินการแข่งขันฟุตบอล หรือ VDO Challenge ช่วยตัดสินการแข่งขันวอลเลย์บอล เป็นต้น

เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยเก็บสถิติต่างๆที่เกิดขึ้นเวลาแข่งขันกีฬาด้วยเช่นกัน  เราจะมาลองดูด้วยกันว่าเทคโนโลยีที่นำมาช่วยตัดสินเกมกีฬามีอะไรกันบ้าง

เทคโนโลยีฮอว์คอาย (Hawk Eye) 


เทคโนโลยีฮอว์คอาย (Hawk Eye)  หรือ กล้องตาเหยี่ยว  เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการตัดสินคะแนนสำคัญ โดยเทคโนโลยีฮอว์คอาย สามารถจับความเร็วในการเสิร์ฟลูก และจับจังหวะบอลตกลงในสนามได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากกีฬาเทนนิสในปัจจุบันได้มีการเสิร์ฟด้วยความเร็วมาก และเกมที่ตีโต้กันรวดเร็วมาก บางครั้งสายตาของคนก็มองไม่ทันเกม   จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะใช้เทคโนโลยีชนิดนี้เข้ามาช่วยในการตัดสินโดยทำงานร่วมกับกล้องที่ติดตั้งทั่วสนามและใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวนหาตำแหน่งการตกลงของลูกเทนนิส

แต่เมื่อใช้จริงก็เกิดปัญหาเนื่องจากแสงและเงาที่เล็ดลอดเข้ามายังสนาม ทำให้เจ้าฮอว์กอายไม่สามารถคำนวณตำแหน่งลูกตกออกมาได้อย่างถูกต้อง

เทคโนโลยีฮอว์คอาย (Hawk Eye)  หรือ เจ้ากล้องตา”เหยี่ยว”จึงตกเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกหยิบมากล่าววิจารณ์จากผู้บรรยายกีฬาอยู่เป็นประจำ 

นอกจากนี้ต้นทุนในการติดตั้งค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 600,000 – 800,000 บาทต่อสนาม

สนามเทนนิสเมืองไทยเราจึงยังไม่ได้ใช้ฮอว์คอายหรือกล้องตาเหยี่ยว  ยังคงใช้ไลน์แมนยืนกางแขนเป็นหุ่นไล่กาตัดสินที่ข้างสนามไปก่อน

เทคโนโลยี  VAR (Video Assistant Referees)

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)ได้ทดลองใช้ VAR มาแล้ว ในเกมชิงแชมป์สโมสรโลก และเกมคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ 2017

วิธีการทำงานของ VAR คือให้ผู้ตัดสินจำนวน 2 คน ประจำการอยู่ที่ห้องส่งและข้างสนาม ซึ่งมีจอมอนิเตอร์โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องถ่ายทอดสดความละเอียดสูงหลายตัวๆมาให้ดู

เมื่อผู้ตัดสินในสนามเกิดความสงสัยต่อจังหวะที่เกิดขึ้นก็จะติดต่อให้คนที่เฝ้าจอมอนิเตอร์ ร่วมมือกับทีมถ่ายทอดสดเช็คภาพเหตุการณ์จากกล้องที่ถ่ายชัดเจนที่สุด ก่อนส่งคำตอบกลับไปให้ผู้ตัดสิน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้ชมและนักฟุตบอลในสนามไม่สามารถมองเห็นภาพได้ ทำให้ไม่ค่อยยอมรับผลการตัดสิน และเกมฟุตบอลที่เป็นกีฬาเล่นต่อเนื่องต้องหยุดการแข่งขัน ยิ่งหยุดบ่อยครั้งทำให้เสียอารมณ์ในการรับชม

บางครั้งดู VAR ก็ยังตัดสินผิดพลาดอีก!  คำกล่าวที่ว่า “ความผิดพลาดของกรรมการ เป็นเสน่ห์ของฟุตบอล”

คงจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะผู้ตัดสินเป็นมนุษย์ปุถุชน ย่อมพลาดได้ สี่เท้ายังก้าวพลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วจะไปคาดหวังอะไรกับสายตาของกรรมการ หรือ บ้านเราจะเรียกว่า “จารย์” แม้ไม่ได้สอนหนังสือ เป็นกรรมการบอล มีแต่คนเรียกว่า”จารย์” เช่น “จารย์ลูกนี้ไม่ฟาวล์เหรอ” “จารย์มันอ๊อฟชัดๆ” …

กีฬาที่มีการใช้ภาพรีเพลย์มาช่วยตัดสินดั่งเช่นวอลเลย์บอล, แบดมินตัน หรือแม้กระทั่งกีฬาเทควันโด

สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องขอตรวจสอบได้ การใช้สิทธิ์ Challenge หากทีมที่ขอ Challenge ชนะการตรวจสอบสิทธิ์ก็จะอยู่ต่อ แต่หากแพ้การ Challenge สิทธิ์ก็จะหมดไป

นักฟุตบอลหรือโค้ชที่ยังยึดติดอยู่กับระบบเดิมๆ ก็ต้องรู้จักหมุนตามเทคโนโลยีให้ทัน โลกเปลี่ยนไปแล้ว เพราะคงไม่มีฝ่ายใดอยากเสียผลประโยชน์จากความผิดพลาดของ “มนุษย์” ที่อยู่กลางสนาม ผลการแข่งขันอาจจะเปลี่ยนได้เพราะผู้ตัดสิน “มองไม่เห็น” และ “ไม่ทันเกม” 

เทคโนโลยี VAR  ยิ่งมีการใช้ก็เป็นการประจานความผิดพลาดของผู้ตัดสิน  

บทสรุปคือ วิดีโอช่วยผู้ตัดสินเกมฟุตบอล (VAR) มัน ว้าว! หรือ ว้าย…! ต้องดูกันต่อไป ในฟุตบอลโลกปี 2018 หนนี้

รวมถึงวงการฟุตบอลไทยที่เริ่มใช้ VAR เพื่อยกมาตรฐานการตัดสินของกรรมการไทย

เราควรจะดูบอลให้สนุก ไม่ทุกข์เพราะเล่นพนัน ไม่งั้น ตัดสินด้วย VAR ทีไร หัวใจมันจะวาย !

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีย่อมมีความผิดพลาด หากเราเล่นกีฬาหรือชมกีฬา  เราต้องทำความเข้าใจ และรักษาน้ำใจนักกีฬา  คือ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย  

error: Content is protected !!